10 เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับพร้อมเพย์ ชี้แจงธนาคารแห่งประเทศไทย

0
1008
10 เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับพร้อมเพย์

พร้อมเพย์ คืออะไร กำลังเป็นที่สงสัยกันในวงกว้าง สำหรับผู้ที่คิดจะใช้ กำลังจะใช้ หรือลงทะเบียนพร้อมเพย์กันไปแล้ว แต่ก็ยังงงๆ กันอยู่ เพราะมีหลากหลายกระแสที่แสดงความคิดเห็นกันอย่างคลาดเคลื่อน วันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงค์ชาติ จึงออกมาชี้แจงเกี่ยวกับการใช้พร้อมเพย์ พร้อมเคลียร์ปัญหาต่างๆ รวม 10 ข้อด้วยกัน เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้ทำความรู้จัก “พร้อมเพย์” กันดีขึ้น

10 เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับพร้อมเพย์

1. พร้อมเพย์บังคับลงทะเบียน

ไม่บังคับ.. พร้อมเพย์เป็นบริการทางเลือกใหม่ที่สะดวก และค่าธรรมเนียมถูกมาก แม้จะไม่ลงทะเบียนพร้อมเพย์เราก็ยังโอนเงินแบบเดิมได้ และไม่มีกำหนดปิดลงทะเบียน

2. ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการพร้อมเพย์

ไม่ใช่… ธนาคารเป็นผู้ให้บริการ ส่วนแบงก์ชาติเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดขึ้นและเป็นผู้กำกับดูแลทั้งธนาคารที่ให้บริการและผู้ให้บริการระบบกลาง

3. ผูกเลขประจำตัวประชาชน/เบอร์มือถือ เข้าใจยาก

ทั้งสองอย่างใช้รับโอนเงินได้สะดวกกว่าการแจ้งชื่อธนาคารและเลขที่บัญชี โดยการโอนเงินระหว่างประชาชนใช้เบอร์มือถือจะงายกว่า ส่วนเลขประจำตัวประชาชนเหมาะสำหรับใช้รับเงินจากภาครัฐ

10 เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับพร้อมเพย์

 

4. ถ้าเปลี่ยนหรือเลิกใช้เบอร์มือถือจะรับเงินผิดพลาด

ไม่ต้องห่วง…แค่แจ้งยกเลิกหรืออัพเดทข้อมูลเบอร์มือถือกับธนาคารทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง

5. โอนเงินแบบเดิม ๆ ปลอดภัยกว่า

จะโอนแบบพร้อมเพย์หรือโอนแบบเดิมก็ปลอดภัยเท่ากัน เพราะใช้ช่องทางเดิมที่คุ้นเคย ทั้ง Mobile/Internet Banking หรือ ATM ซึ่งต้องมีรหัสผ่านของตัวเองจึงจะใช้ได้

6. ข้อมูลส่วนตัวจะรั่วไหล

ธนาคารและผู้ให้บริการระบบกลางไม่สามารถนำข้อมูลมาเปิดเผยได้ โดยมีกฎหมายควบคุมและแบงก์ชาติตรวจสอบสม่ำเสมอ

10 เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับพร้อมเพย์

7. สุ่มเสี่ยงจากโจรกรรมไซเบอร์

พร้อมเพย์เป็นระบบเชื่อมระหว่างธนาคารที่ต่อยอดจากระบบปัจจุบัน ปลอดภัยจากการบุกรุกไม่ด้อยไปกว่าระบบปัจจุบัน

8. ไม่มีกฎหมายรองรับ

พร้อมเพย์ใช้กฎหมายเดียวกับการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่ให้บริการอยู่ และหากมีปัญหา เช่น โอนเงินผิด ธนาคารก็จะดูแลลูกค้าไม่ต่างจากในปัจจุบัน

 

 

10 เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับพร้อมเพย์

 

9. ถ้ามือถือหายหรือใครรู้เลขประจำตัวประชาชนก็แอบโอนเงินเราได้

ไม่จริง…พร้อมเพย์คือการผูกบัญชีเพื่อรับเงิน ส่วนการโอนเงินออกจากบัญชีทุกครั้งต้องใช้กลไกความปลอดภัย ถ้าโอนผ่าน Mobile/Internet Banking ต้องมี username/password/OTP ถ้าโอนผ่านตู้ ATM ต้องมีบัตรและรหัสผ่าน

10. การใช้งานมีความเสี่ยง

ลดความเสี่ยงการใช้บริการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยรักษารหัสผ่านให้ดี ดูแลอุปกรณ์ที่ใช้โอนให้ปลอดภัย และเช็กข้อมูลให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอนทุกครั้ง

ได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องกันไปแล้ว สำหรับใครที่ต้องการลงทะเบียนพร้อมเพย์ก็สามารถดำเนินการได้เลย

 

 

10 เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับพร้อมเพย์

 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
เฟซบุ๊ก Bank of Thailand